البحث

عبارات مقترحة:

الخلاق

كلمةُ (خَلَّاقٍ) في اللغة هي صيغةُ مبالغة من (الخَلْقِ)، وهو...

المتعالي

كلمة المتعالي في اللغة اسم فاعل من الفعل (تعالى)، واسم الله...

العلي

كلمة العليّ في اللغة هي صفة مشبهة من العلوّ، والصفة المشبهة تدل...

อัซซุนนะฮฺคืออะไร?

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف ริฎอ อะหมัด สมะดี ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات علوم السنة - علوم السنة ومباحث أخرى
แนวทางอัซซุนนะฮฺนั้นคือ ชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม แม้กระทั่งกิริยามารยาทของท่าน ผู้ใดปฏิบัติแค่ไหนจากชีวิตของท่าน ก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺแค่นั้น.

التفاصيل

ในซูเราะฮฺ อัลอันอาม อายะฮฺที่ 153 อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า (وَأَنَّ هَذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيماً فَاتَّبِعُوهُ وَلا تَتَّبِعُوا السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَنْ سَبِيلِهِ ذَلِكُمْ وَصَّاكُمْ بِهِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ) (سورة الأنعام: 153) ความว่า “และแท้จริงนี่คือทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลายๆ ทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” ด้วยคำสั่งของอัลลอฮฺ ที่ระบุข้างต้น มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ต้องแสวงหาแนวทางอันเที่ยงตรง (  الصِّراطُ المُستَقِيم - อัศศิรอฏุ้ลมุสตะกีม) ที่อัลลอฮฺทรงใช้ให้มนุษย์ยืนหยัดไว้ เพราะเป็นความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่เมื่อมนุษย์ทุกคนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺแล้ว ต้องมีคำถามที่จะเกิดขึ้น คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าแนวทางนั้นคือแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ  ?   คำตอบก็อยู่ในอัลกุรอานเช่นกัน ในซูเราะฮฺ อัลฟาติหะฮฺ อายะฮฺที่ 6-7 อัลลอฮฺมีพระดำรัสว่า (اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ، صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلا الضَّالِّينَ) (سورة الفاتحة: 7) ความว่า “ขอพระองค์ทรงแนะนำพวกข้าพระองค์ซึ่งทางอันเที่ยงตรงคือทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขา” นั่นคือลักษณะแห่งแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ คือทางที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ แต่ลักษณะเพียงเท่านี้อาจไม่ชัดเจนพอสำหรับผู้ที่แสวงหา อัศศิรอฏอัลมุสตะกีม จึงต้องค้นหาในอัลกุรอานซึ่งลักษณะที่ชัดแจ้งสำหรับแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ  คืออายะฮฺที่พระองค์ตรัสไว้ใน ซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 69 (وَمَنْ يُطِعِ اللَّهَ وَالرَّسُولَ فَأُولَئِكَ مَعَ الَّذِينَ أَنْعَمَ اللَّهُ عَلَيْهِمْ مِنَ النَّبِيِّينَ وَالصِّدِّيقِينَ وَالشُّهَدَاءِ وَالصَّالِحِينَ وَحَسُنَ أُولَئِكَ رَفِيقاً) (سورة النساء: 69) ความว่า “และผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูลแล้ว ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานแก่พวกเขา อันได้แก่ บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฎี บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่ประพฤติดี และชนเหล่านี้แหละเป็นเพื่อนที่ดี”  จากอายะฮฺนี้ เราสามารถรู้จักแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺได้อย่างชัดแจ้ง นั่นคือทางของบรรดานบี ร่อซูล และผู้ที่ปฏิบัติตามท่าน หากเราเป็นประชาชาติที่ยึดมั่นในแนวทางของอิสลามแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางของร่อซูลท่านสุดท้าย ที่เป็นตราประทับของบรรดานบีและร่อซูลทั้งหลาย (คอตะมุนนะบียีน) เมื่อเป็นที่ประจักษ์แจ้งสำหรับลักษณะแห่งแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺแล้ว จึงต้องมีแนวทางเดียว ซึ่งเป็นแนวทางที่อัลลอฮฺทรงมอบให้เราศึกษาค้นหา ปฏิบัติตาม และยืนหยัด นั่นคือแนวทางของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นในภาษาอาหรับจะเรียกแนวทางของท่านนบีว่า “السنة - อัซซุนนะฮฺ” เพราะเป็นคำที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  มักจะใช้บ่อยครั้งในคำสั่งสอนของท่าน เช่น ในฮะดีษศ่อฮี้ฮฺที่บันทึกโดยอิมามอะหมัด, อัตติรมีซีย์, อบู ดาวูด และอิบนุ มาญะฮฺ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในแนวทางของฉัน ( سُنَّتِي ) และแนวทางของผู้นำที่อยู่ในแนวทางอันเที่ยงธรรมของฉัน(อัลคุละฟาอุ้ลรอชิดูน)ที่จะมาหลังฉัน จงเคร่งครัดในการยึดมั่นบนแนวทางนั้น จงกัดมันด้วยฟันกราม(คืออย่าละทิ้งเป็นอันขาด) และจงหลีกให้พ้นจากอุตริกรรมในกิจการของศาสนา เพราะทุกอุตริกรรมในกิจการศาสนานั้นเป็นการหลงผิด” หลักฐานต่างๆข้างต้น เป็นพระกำหนดจากอัลลอฮฺและร่อซูล เกี่ยวกับแนวทางที่เราต้องยึดมั่น หากคนหนึ่งคนใดมีความสงสัยหรือคลางแคลงใจว่า ทำไมต้องยึดมั่นในแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น ? และ ทางที่เที่ยงตรงจะไม่ปรากฏเว้นแต่ด้วยท่านนบีกระนั้นหรือ ? คำตอบคือ การที่เราใช้การพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาอันบริสุทธิ์ปราศจากโรคแห่งการบิดพลิ้ว  (النِّفَاق) เราจึงต้องเข้าใจว่า การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺนั้นจะต้องมีคุณสมบัติประการสำคัญที่สุดคือ การเชื่อฟังต่อพระบัญชาของอัลลอฮฺ  ในเมื่ออัลลอฮฺทรงมอบศาสนทูตจากพระองค์ เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระบัญชาของพระองค์นั้น เป็นความจำเป็นที่ต้องเข้าใจว่า การเชื่อฟังศาสนทูตของพระองค์ก็คือการเชื่อฟังในพระบัญชาของอัลลอฮฺนั่นเอง ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺ 80 (مَنْ يُطِعِ الرَّسُولَ فَقَدْ أَطَاعَ اللَّهَ ) (سورة النساء: من الآية 80) ความว่า “ผู้ใดเชื่อฟังร่อซูล แน่นอนเขาก็เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว” และในหลายอายะฮฺได้สั่งใช้ให้เราเชื่อฟังอัลลอฮฺ พร้อมทั้งร่อซูลของพระองค์ เช่น อายะฮฺที่ 59 ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ (يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الْأَمْرِ مِنْكُمْ ) (سورة النساء: من الآية 59) ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ เชื่อฟังร่อซูล และผู้นำในหมู่พวกท่านเถิด” และในอายะฮฺที่ 1 ของซูเราะฮฺ อัลหุญุร้อต อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า (يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا تُقَدِّمُوا بَيْنَ يَدَيِ اللَّهِ وَرَسُولِهِ ) (سورة الحجرات: من الآية 1) มีความหมายว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า(ในการกระทำใดๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์” ฉะนั้นแล้ว การที่มุอ์มินผู้ศรัทธาเชื่อมั่นในแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นก็หมายถึง เขาเชื่อมั่นในแนวทางของอัลลอฮฺนั่นเอง จึงจะแยกแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากแนวทางของอัลลอฮฺมิได้เป็นอันขาด จากเหตุผลนี้เรายืนยันได้ว่า คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ก็หมายถึงศาสนาอิสลามนั่นเอง มิใช่นิกาย หรือกลุ่มชน หรือแนวทางอันประหลาด หรือทฤษฎีส่วนตัว หรือทรรศนะของนักปราชญ์ใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น อัซซุนนะฮฺจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อนุรักษ์หลักการของอิสลามให้คงอยู่เหมือนดั้งเดิม โดยไม่ยอมให้อุตริกรรม ประเพณี วัฒนธรรม แนวคิด หรือการปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม มาทำลายความสมบูรณ์ของคำสั่งสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าผู้ที่เคร่งครัดในแนวทางอัซซุนนะฮฺ จะไม่ยอมกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถือว่าเป็นศาสนกิจ เว้นแต่ต้องมีบทบัญญัติระบุไว้ในอัลกุรอาน หรือบทฮะดีษศ่อฮี้ฮฺ(ถูกต้อง)จากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนวทางอัซซุนนะฮฺนี้มิใช่โลโก้ของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือนิกายหนึ่งนิกายใดในประชาชาติอิสลาม นอกจากคือแนวทางของผู้ที่เชื่อมั่นในมาตรฐานที่ระบุไว้ข้างต้น โดยไม่มีความตระหนักในหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ใดๆ นอกจากหลักการที่ได้รับการวินิจฉัยในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น และไม่มีใครที่สามารถสงวนลิขสิทธิ์ “อัซซุนนะฮฺ” เป็นเครื่องหมายส่วนตัว ชื่อสถาบัน หรือผลงานของบุคคลหรือองค์กรใดๆก็ตาม  หากถือว่าทางอันเที่ยงธรรมนี้เป็นทางสาธารณะสำหรับประชาชาติอิสลามทั้งปวงให้แสวงหาและยืนหยัดโดยไม่มีผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้รับรองรับประกัน หรือผู้ประทับตรา นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติของบรรดาผู้เลียนแบบและปฏิบัติตามรอยเท้าของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น ในสังคมปัจจุบัน คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ถูกบิดเบือนและถูกทำลาย จนทำให้บรรดามุสลิมีนและมุสลิมาตมีความเข้าใจต่อความหมายของอัซซุนนะฮฺไม่ถูกต้องจากคำเผยแผ่ สั่งสอน  และเรียกร้องของบางคนที่อ้างตนว่าอยู่ในแนวทางอัซซุนนะฮฺ     จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขจัดความเข้าใจผิดเหล่านั้น โดยนำบรรทัดฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺมาฟื้นฟูความหมายอันบริสุทธิ์ของคำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ซึ่งเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการการสนับสนุนจากพี่น้องผู้มีความห่วงใยหลักการ คือกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อคำว่า “อัซซุนนะฮฺ“ นั้นถูกสะสมมานานพอสมควร โดยการผูกพันระหว่างพฤติกรรมของโต๊ะครูหรือผู้รู้ที่ยึดมั่นในแนวทางอัซซุนนะฮฺกับบรรทัดฐานของแนวทางอัซซุนนะฮฺที่แท้จริงเข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้เกิดความสับสนในมาตรฐานของอัซซุนนะฮฺ อาทิเช่น การเข้าใจว่าอัซซุนนะฮฺคือการไม่ศ่อละวาตเสียงดังพร้อมเพรียงกันหลังละหมาดฟัรฎู หรือการไม่ทำบุญคนตาย หรือไม่มีกิจกรรมที่เป็นบิดอะฮฺ หรือไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีแนวกระทำบิดอะฮฺต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบางคนที่คิดเอาเองว่า แนวทางอัซซุนนะฮฺนี้อาจเป็นแนวทางที่ยึดโดยกำเนิด โดยไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังที่ระบุข้างต้น หรือบางคนอาจจะเชื่อว่าการฟังการบรรยายโต๊ะครูซุนนะฮฺคนหนึ่งคนใดก็ถือว่าเป็นการรับรองว่าตนเองอยู่ในแนวซุนนะฮฺแล้ว หรืออาจจะเข้าใจว่าการละหมาด ณ มัสยิดซุนนะฮฺ ก็ถือเป็นการประทับตราว่าตนเองอยู่ในกรอบซุนนะฮฺแล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ! เพราะแนวทางอัซซุนนะฮฺนั้นคือ ชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม แม้กระทั่งกิริยามารยาทของท่าน ผู้ใดปฏิบัติแค่ไหนจากชีวิตของท่าน ก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺแค่นั้น นอกจากนั้นความหมายของ “อัซซุนนะฮฺ” ยังจำเป็นต้องนำมาจากคำแนะนำของบรรดากัลยาณชนยุคแรก (อัสสะละฟุศศอและฮฺ) ซึ่งมีบรรดาศ่อฮาบะฮฺและบรรดาตาบิอีนเป็นยุคบรรพชนที่มีความรู้อย่างหนักแน่นและมั่นคงในซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเป็นที่ยอมรับสำหรับนักปราชญ์อิสลาม (อุละมาอ์) ทั้งปวงว่า มติเอกฉันท์ของบรรดากัลยาณชนยุคแรกนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาได้ ดังนั้น เราจะมีคลังแห่งธรรมะ ศีลธรรม จริยธรรม ศาสนกิจ และความรู้ที่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำความเข้าใจ “อัซซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม”  ซึ่งคลังนั้นก็คือ مَنهَجُ السَّلَفُ الصَّالِح  หมายถึงหลักสูตรของสะละฟุศศอและฮฺ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของศาสนา ดังที่เราได้ศึกษาและเป็นที่รู้กันอย่างดีประวัติศาสตร์อิสลาม ถึงแม้ว่าแนวทางอัซซุนนะฮฺของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะตำหนิติเตียน ตักเตือน ชี้แนะ หรือแก้ไข ความเข้าใจและทรรศนะที่ขัดกับหลักการศาสนาอันเที่ยงตรงนั้น แต่แนวทางอัซซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะมีความตระหนักมากในความเป็นประชาชาติเดียวกัน อันเป็นคำสั่งเสียที่อัลลอฮฺทรงใช้ให้เราอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺ อัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 92 ที่ว่า (إِنَّ هَذِهِ أُمَّتُكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَأَنَا رَبُّكُمْ فَاعْبُدُونِ) (سورة الأنبياء: 92) ความว่า  “แท้จริง นี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน และข้าเป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้าเถิด” พระดำรัสนี้เป็นมาตรการที่มีความสำคัญมากในสังคมมุสลิม จึงต้องยึดเป็นมาตรการในการเผยแผ่ศาสนาและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เพราะมุสลิมนั้นจะไม่ยึดพี่น้องมุสลิมของเขาเป็นศัตรูอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งหรือการโต้เถียงกัน ก็ยังยึดถือในความเป็นพี่น้องกัน  นี่คือหลักสำคัญในการรักษาสภาพ “ความเป็นประชาชาติเดียวกัน” อันเป็นวิถีทางที่อัลกุรอานได้แนะนำไว้ในอายะฮฺที่ 10 ของซูเราะฮฺ อัลหุญุร้อต ซึ่งอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า (إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ) (سورة الحجرات: 10) ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา” แม้กระทั่งกรณีที่เกิดความขัดแย้งกัน ก็มีมาตรการที่อัลกุรอานแนะนำให้ปฏิบัติเป็นทางออก และเป็นแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งระบุไว้ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 59 ซึ่ง อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า  ( فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِي شَيْءٍ فَرُدُّوهُ إِلَى اللَّهِ وَالرَّسُولِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ ذَلِكَ خَيْرٌ وَأَحْسَنُ تَأْوِيلاً) (سورة النساء: من الآية 59) ความว่า “ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องใด ก็จงนำเรื่องนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและร่อซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และเป็นการกลับที่สวยงามยิ่ง”