ชื่อของวันอาคิเราะฮฺ,การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ, ความยิ่งใหญ่ของวันอาคิเราะ การทดสอบในกุบูรฺ(หลุมฝังศพ) การถูกทรมานในหลุมฝังศพมี 2 สองประเภท การเสวยสุขในหลุมฝังศพ ที่พำนักพักพิงของบรรดาวิญญาณ(รูหฺ)หลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้วจนถึงวันกิยามะฮฺ
التفاصيل
วันอาคิเราะฮฺ คือ วันกิยามะฮฺที่อัลลอฮฺจะทรงให้ทุกสรรพสิ่งได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเพื่อการสอบสวนและการตอบแทน การที่ได้ชื่อว่า “อัล-เยาม์ อัล-อาคิรฺ” (แปลว่า วันสุดท้าย) อันเนื่องมาจากไม่มีวันใดอีกแล้วหลังจากวันดังกล่าวนี้ เพราะชาวสวรรค์ก็จะพำนักอยู่ในสวรรค์จนไม่มีวันสิ้นสุดและชาวนรกก็จะพำนักอยู่ในนรก - บรรดาชื่อของวันอาคิเราะฮฺ ชื่อของวันอาคิเราะฮฺมีหลายชื่อดังต่อไปนี้ วันแห่งการตื่นขึ้น(อัล-กิยามะฮฺ), วันแห่งการฟื้นคืน(อัล-บะอฺษ์), วันแห่งการพิพากษา(อัล-ฟัศล์), วันแห่งการออกจากสุสาน(อัล-คุรูจญ์), วันแห่งการตอบแทน(อัด-ดีน), วันแห่งความนิรันดร์(อัล-คุลูด), วันแห่งการสอบสวน(อัล-หิซาบ), วันแห่งสัญญา(อัล-วะอีด), วันแห่งการชุมนุม(อัล-ญัมอฺ), วันแห่งความมึนงง(อัต-ตะฆอบุน), วันแห่งการพบเจอ(อัต-ตะลาก), วันแห่งการเบี่ยงหนี(อัต-ตะนาด), วันแห่งความสำนึก/เสียดาย(อัล-หัสเราะฮฺ), เสียงหวีดร้อง(อัศ-ศ๊อคเคาะฮฺ), ความวิบัติอันใหญ่หลวง(อัฏ-ฏอมะตุลกุบรอ), ความวุ่นวายที่มืดมัว(อัล-ฆอชิยะฮฺ), สิ่งที่จะเกิดขึ้น(อัล-วากิอะฮฺ), การเผยความจริง(อัล-ห๊ากเกาะฮฺ), ความทุกข์ยากอันสาหัส(อัล-กอริอะฮฺ) - การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ คือ การเชื่ออย่างแน่วแน่และเชื่ออย่างสัตย์จริงในทุกสิ่งที่อัลลอฮฺและรอซูลได้กล่าวมา ทั้งในเรื่องการฟื้นคืนชีพ การไล่ต้อนสรรพสิ่งไปยังสนามรวม(มะหฺชัรฺ) การสอบสวน สะพานศิรอฎฺ ตาชั่งวัดความดีความชั่ว สวนสวรรค์ นรก และอื่นๆที่เกิดขึ้นในวันอาคิเราะฮฺ และเชื่อในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนตาย นั่นก็คือ วันสิ้นโลกและเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์ของวันสิ้นโลก และเชื่อในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังความตายนั่นก็คือ เชื่อในฟิตนะฮฺ(การทดสอบ)ในหลุมฝังศพ การถูกทรมานและการเสวยสุขในหลุมฝังศพ - ความยิ่งใหญ่ของวันอาคิเราะฮฺ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺเป็นรุก่นอีมาน(หลักการศรัทธา)ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเมื่อรวมกับหลักการศรัทธาอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็จะชี้วัดความมั่นคงในศรัทธาของมนุษย์ผู้หนึ่ง อีกทั้งยังเป็นหลักประกันถึงความสันติสุขและความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้าของเขา ด้วยความสำคัญของการศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ พระองค์จึงได้ระบุทั้งสองประการนี้เคียงคู่กันในหลายอายะฮฺของอัลกุรอาน เช่น 1. อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า « ذَلِكُمْ يُوعَظُ بِهِ مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِر » ความว่า “ดังกล่าวมานั้นผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ จะถูกตักเตือนให้ถือปฏิบัติ“ (อัฏ-เฏาะลาก : 2) 2. อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า «اللَّهُ لا إِلَهَ إِلَّا هُوَ لَيَجْمَعَنَّكُمْ إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ لا رَيْبَ فِيهِ» ความว่า “อัลลอฮฺนั้นคือพระเจ้าซึ่งไม่มีผู้ใดที่ควรต้องได้รับการเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ นอกจากพระองค์เท่านั้น แน่นอนพระองค์จะทรงรวบรวมพวกเจ้าทั้งหลายสู่วันกิยามะฮฺ ซึ่งไม่มีการสงสัยใดๆ ในวันนั้น” (อัน-นิสาอ์ : 87) 3. อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า « فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِي شَيْءٍ فَرُدُّوهُ إِلَى اللَّهِ وَالرَّسُولِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ» ความว่า “หากพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรอซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ...” (อัน-นิสาอ์ : 59) 1. จากอัล-บัรรออ์ บิน อาซิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า «خَرَجْنَا مَعَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي جَنَازَةِ ... وفيه ـ قال النبي صلى الله عليه وسلم : وَيَأْتِيهِ مَلَكَانِ فَيُجْلِسَانِهِ فَيَقُولاَنِ لَهُ : مَنْ رَبُّكَ؟ فَيَقُولُ : رَبِّيَ اللَّهُ. فَيَقُولاَنِ لَهُ : مَا دِينُكَ؟ فَيَقُولُ : دِينِيَ الْإِسْلاَمُ. فَيَقُولاَنِ لَهُ : مَا هَذَا الرَّجُلُ الَّذِي بُعِثَ فِيكُمْ؟ قَالَ فَيَقُولُ : هُوَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ...» أخرجه أحمد وأبو داود. ความว่า “พวกเราได้ออกไปพร้อมกับท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เนื่องจากมีผู้ที่เสียชีวิตผู้หนึ่ง...(ในหะดีษมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า ‘และแล้วมลาอิกะฮฺสองท่านก็ได้มาหาผู้ที่เสียชีวิต(ที่ถูกฝังอยู่ในกุบูรฺ) และมลาอิกะฮฺทั้งสองจัดให้เขาได้ลุกขึ้นนั่งพร้อมกับได้กล่าวแก่เขาว่า ใครคือพระเจ้าของเจ้า? ผู้ที่เสียชีวิตก็ตอบว่า พระเจ้าของฉันคืออัลลอฮฺ แล้วมลาอิกะฮฺก็เอ่ยถามเขาต่อไปว่า แล้วศาสนาของเจ้าคือศาสนาอะไร? เขาก็ตอบไปว่า ศาสนาของฉันคืออิสลาม และมลาอิกะฮฺทั้งสองก็ได้ถามเขาต่อว่า และผู้ชายที่ถูกส่งมายังพวกเจ้าเป็นใคร? เขาก็ตอบว่า เขาคือรอซูลของอัลลอฮฺ...’” (รายงานโดย อะห์มัด : 18733 และอบู ดาวูด : 4753 สำนวนนี้เป็นของ อบู ดาวูด, ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด : 3979) 2. จากอะนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า «الْعَبْدُ إِذَا وُضِعَ فِي قَبْرِهِ وَتُوُلِّيَ وَذَهَبَ أَصْحَابُهُ حَتَّى إِنَّهُ لَيَسْمَعُ قَرْعَ نِعَالِهِمْ، أَتَاهُ مَلَكَانِ فَأَقْعَدَاهُ فَيَقُولانِ لَهُ : مَا كُنْتَ تَقُولُ فِي هَذَا الرَّجُلِ مُحَمَّدٍ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ؟ فَيَقُولُ : أَشْهَدُ أَنَّهُ عَبْدُ اللَّهِ وَرَسُولُهُ. فَيُقَالُ : انْظُرْ إِلَى مَقْعَدِكَ مِنْ النَّارِ أَبْدَلَكَ اللَّهُ بِهِ مَقْعَدًا مِنْ الْجَنَّةِ. قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : فَيَرَاهُمَا جَمِيعًا. وَأَمَّا الْكَافِرُ أَوْ الْمُنَافِقُ فَيَقُولُ : لاَ أَدْرِي كُنْتُ أَقُولُ مَا يَقُولُ النَّاسُ. فَيُقَالُ : لاَ دَرَيْتَ وَلاَ تَلَيْتَ. ثُمَّ يُضْرَبُ بِمِطْرَقَةٍ مِنْ حَدِيدٍ ضَرْبَةً بَيْنَ أُذُنَيْهِ فَيَصِيحُ صَيْحَةً يَسْمَعُهَا مَنْ يَلِيهِ إِلاَّ الثَّقَلَيْنِ» متفق عليه. ความว่า “บ่าวผู้หนึ่ง เมื่อได้ถูกวางลงในกุบูรฺเรียบร้อยแล้ว และบรรดาญาติมิตรได้หันหลังกลับจนบ่าวผู้นี้(สามารถที่จะ)ได้ยินเสียงรองเท้าของพวกเขา จะมีมลาอิกะฮฺสองท่านมาหาเขา ทั้งสองจัดให้เขาลุกขึ้นนั่งพร้อมกับกล่าวแก่เขาว่า ’เจ้าจะกล่าวว่าอย่างไรกับผู้ชายผู้นี้ที่ชื่อว่ามุหัมมัด?’ เขาก็ตอบไปว่า ’ฉันขอยืนยันว่าเขาคือบ่าวและรอซูลของอัลลอฮฺ’ ดังนั้นจึงมีการกล่าวแก่เขาว่า ’จงมองยังที่อยู่ของเจ้าในนรกซึ่งอัลลอฮฺได้เปลี่ยนมันด้วยที่อยู่สำหรับเจ้าในสวนสวรรค์แทนแล้ว’ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า ’เขาก็จะได้เห็นที่อยู่ทั้งสอง(ทั้งในนรกและในสวรรค์)’ และสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา(กาฟิรฺ) หรือผู้กลักกลอก(มุนาฟิก) เขาจะตอบว่า ’ฉันไม่รู้ ฉันเพียงแต่กล่าวว่าตามที่คนอื่นได้พากันกล่าว’ แล้วเขาผู้นั้นก็ได้รับการตอบกลับ(ด้วยคำกล่าวว่า) ’เจ้าไม่รู้ และไม่ได้อ่าน’ และแล้วเขาผู้นั้นก็ถูกทุบด้วยค้อนเหล็กระหว่างสองใบหูของเขากระทั่งเขาร้องโหยหวน(อย่างเจ็บปวด)จนผู้ที่อยู่ใกล้ๆ สามารถได้ยินเว้นเสียแต่มนุษย์และญินเท่านั้น (ที่ไม่สามารถได้ยิน)” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ : 1338 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน, มุสลิม : 2870) - การถูกทรมานในหลุมฝังศพมีสองประเภท 1. คือการถูกทรมานที่ไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะถึงวันกิยามะฮฺ นั่นคือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ปฏิเสธ(กาฟิรฺ) และผู้หลอกหลวงกลับกลอก(มุนาฟิก) ดังที่อัลลอฮฺได้อธิบายเกี่ยวกับพรรคพวกของฟิรฺอาวน์ว่า «النَّارُ يُعْرَضُونَ عَلَيْهَا غُدُوّاً وَعَشِيّاً وَيَوْمَ تَقُومُ السَّاعَةُ أَدْخِلُوا آلَ فِرْعَوْنَ أَشَدَّ الْعَذَابِ» ความว่า “ไฟนรกนั้นจะถูกนำให้พวกเขาได้เห็นทั้งในยามเช้าและยามเย็น และในวันกิยามะฮฺนั้นจะมีเสียงกล่าวว่า จงให้บริวารของฟิรฺอาวน์เข้าไปรับการลงโทษอันแสนสาหัส” (ฆอฟิรฺ : 46) 2. การถูกทรมานในหลุมฝังศพช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่จะมีวันสิ้นสุด ดังกล่าวนี้ คือ การทรมานสำหรับผู้ที่ศรัทธาในเอกภาพของอัลลอฮฺซึ่งได้กระทำผิด การทรมานนี้แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำลงไป แล้วจะมีการลดหย่อนการทรมานลงเรื่อยๆ หรือยุติการทรมานในที่สุดด้วยความโปรดปรานและความเมตตาของอัลลอฮฺหรือด้วยผลบุญที่ได้สั่งสมมา หรือเพราะมีการลดหย่อนด้วยเศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺ(บริจาคทานในหนทางของอัลลอฮฺประเภทที่มีผลตอบแทนหรือผลบุญไม่ขาดสาย) หรือด้วยความรู้ที่ให้ประโยชน์ หรือด้วยบุตรที่ดีที่มีความกตัญญูรู้คุณซึ่งคอยขอดุอาอ์ให้แก่เขา และอื่นๆ จากอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ได้กล่าวว่า ท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า «إِنَّ أَحَدَكُمْ إِذَا مَاتَ عُرِضَ عَلَيْهِ مَقْعَدُهُ بِالْغَدَاةِ وَالْعَشِيِّ، إِنْ كَانَ مِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ فَمِنْ أَهْلِ الْجَنَّةِ، وَإِنْ كَانَ مِنْ أَهْلِ النَّارِ فَمِنْ أَهْلِ النَّارِ، يُقَالُ : هَذَا مَقْعَدُكَ حَتَّى يَبْعَثَكَ اللَّهُ إِلَيْهِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ» ความว่า “แท้จริงผู้ใดผู้หนึ่งในหมู่พวกท่านเมื่อได้เสียชีวิตลงแล้ว จะถูกเสนอให้เขาเห็นสถานที่อยู่ของเขาทั้งในตอนเช้าและตอนเย็น ถ้าเขาเป็นพวกที่เป็นชาวสวรรค์ เขาก็จะถูกจัดให้เป็นชาวสวรรค์ ถ้าเขาเป็นพวกชาวนรก เขาก็จะถูกจัดให้เป็นพวกชาวนรก แล้วจะมีการกล่าวแก่เขาว่า นี่คือที่พำนักสำหรับเจ้า จนกว่าจะถึงให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในวันกิยามะฮฺ” (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ : 1379, มุสลิม : 2866 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน) - การเสพสุขในหลุมฝังศพ การเสพสุขในหลุมฝังศพสำหรับบรรดาผู้ศรัทธานั้นมีจริง 1. อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า «إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا تَتَنَزَّلُ عَلَيْهِمُ الْمَلائِكَةُ أَلَّا تَخَافُوا وَلا تَحْزَنُوا وَأَبْشِرُوا بِالْجَنَّةِ الَّتِي كُنْتُمْ تُوعَدُونَ» ความว่า “แท้จริงผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือพระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขายืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา(ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิตโดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือ สวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้” (ฟุศศิลัต : 30) 2. จากอัล-บัรรออ์ บิน อาซิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของบรรดามุอ์มินเมื่อเขาได้ตอบคำถามของสองมลาอิกะฮฺในกุบูรฺว่า «فَيُنَادِي مُنَادٍ فِي السَّمَاءِ أَنْ صَدَقَ عَبْدِي، فَأَفْرِشُوهُ مِنْ الْجَنَّةِ، وَأَلْبِسُوهُ مِنْ الْجَنَّةِ، وَافْتَحُوا لَهُ بَابًا إِلَى الْجَنَّةِ، قَالَ فَيَأْتِيهِ مِنْ رَوْحِهَا وَطِيبِهَا وَيُفْسَحُ لَهُ فِي قَبْرِهِ مَدَّ بَصَرِهِ» أخرجه أحمد وأبو داود. ความว่า “และแล้วได้มีผู้เรียกขานจากฟากฟ้าขึ้นมาว่า แท้จริงบ่าวของข้าผู้นี้เป็นผู้สัตย์จริง ดังนั้นพวกเจ้าจงปูที่อยู่ของเขาด้วยสิ่งที่มาจากสวรรค์ และจงแต่งตัวเขาด้วยสิ่งที่มาจากสวรรค์ และจงเปิดประตูสำหรับเขาไปสู่สวนสวรรค์ และแล้วกลิ่นอบอวนแห่งสวนสวรรค์ได้โชยให้เขาได้สัมผัสและได้ขยายกุบูรฺให้เปิดกว้างสำหรับเขาจนสุดสายตา” (รายงานโดยอะห์มัด : 18733 สำนวนนี้เป็นของท่าน, และอบู ดาวูด : 4753, ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด : 3979) มุอ์มินจะรอดพ้นจากความกลัวทั้งปวง จากการถูกทรมาน จากการถูกทารุณกรรมต่างๆในกุบูรฺ ด้วยปัจจัยหลากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ด้วยสาเหตุการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ การเสียชีวิตขณะเป็นผู้เฝ้าพิทักษ์ดินแดน การเสียชีวิตเพราะโรคในท้อง เป็นต้น - ที่พำนักพักพิงของบรรดาวิญญาณ(รูหฺ)หลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้วจนถึงวันกิยามะฮฺ ดวงวิญญาณในโลกบัรฺซัค(โลกหลังจากที่มนุษย์ได้เสียชีวิตไปแล้ว)จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน บรรดารูหฺจำพวกหนึ่งจะมีที่พำนักที่สูงส่งเหนือกว่าผู้อื่นใดซึ่งอยู่ใกล้กับพระผู้เป็นเจ้าของเขานั่นคือบรรดารูหฺของนบีทั้งหลาย สถานที่พำนักอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ก็จะมีความแตกต่างกันไปอีกเช่นกัน และในบรรดารูหฺจะอยู่ในสภาพร่างของนกที่บินไปมาระหว่างต้นไม้ในสวรรค์ นั่นคือรูหฺของบรรดามุอ์มิน และในบรรดารูหฺที่อยู่ในร่างของนกสีเขียวที่บินอย่างสำราญในสวนสวรรค์ นั่นคือรูหฺของบรรดาผู้ที่เสียชีวิตในการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ และในบรรดารูหฺที่ถูกจองจำไว้ในหลุมกุบูรฺ ดังเช่น รูหฺของผู้ที่ยักยอกทรัพย์สินที่ยึดมาได้จากการทำสงคราม เป็นต้น และในบรรดารูหฺจะมีที่ถูกกักไว้ ณ ประตูแห่งสวนสวรรค์ อันมีสาเหตุมาจากการติดหนี้ที่เขายังไม่ได้ใช้คืนให้กับเจ้าของ และมีรูหฺของพวกกลุ่มหนึ่งที่ถูกจองจำในพื้นพิภพอันมีสาเหตุของความต่ำต้อยของเจ้าของรูหฺเอง และมีรูหฺจำพวกหนึ่งที่อยู่ในเตาไฟของพวกทำซินา(ผิดประเวณี)ทั้งชายและหญิง และก็มีรูหฺที่เวียนว่ายในคลองเลือดและมันได้ถูกให้กินแต่ก้อนหิน พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่กินดอกเบี้ยนั่นเอง ฯลฯ