البحث

عبارات مقترحة:

الحكيم

اسمُ (الحكيم) اسمٌ جليل من أسماء الله الحسنى، وكلمةُ (الحكيم) في...

البارئ

(البارئ): اسمٌ من أسماء الله الحسنى، يدل على صفة (البَرْءِ)، وهو...

الخلاق

كلمةُ (خَلَّاقٍ) في اللغة هي صيغةُ مبالغة من (الخَلْقِ)، وهو...

ผลเสียของการครองตนเป็นโสด

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์ ، ยูซุฟ อบูบักรฺ
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات المجتمع المسلم
กล่าวถึงประเด็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาของหนุ่มสาวที่ครองโสดจนล่วงเลยวันอันสมควร ด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่เป็นสาเหตุในเรื่องนี้ จากหนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ โดย ดร. อะมีน อัช-ชะกอวีย์

التفاصيل

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ   ผลเสียของการครองตนเป็นโสด   การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การเศาะละวาตและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์... ส่วนหนึ่งจากสภาพปัญหาของสังคมที่นำไปสู่ความเสื่อมเสีย ซึ่งมีปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งคือ การที่ผู้คนในสังคมเลือกที่จะครองตนเป็นโสด จากการสำรวจสถิติเป็นข้อมูลเก่าของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศซาอุดิอารเบียพบว่า จำนวนหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงานขณะที่พวกเธอกำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษามีจำนวนถึง 5,000 คน และจากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงหนึ่งพบว่าหญิงสาวที่มีอายุถึงวัยที่ต้องแต่งงาน แต่พวกเธอยังไม่ได้แต่งงานมีจำนวนสูงถึง 1.5 ล้านคน นับว่าเป็นตัวเลขสูงมากอย่างน่าใจหายเพราะเป็นตัวบ่งชี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเรื่องนี้  มีกี่มากน้อยมาแล้วที่ผู้ครองตนเป็นโสดแล้วได้สร้างความเสื่อมเสียขึ้น เป็นโรคจิตบ้าง หรือก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัวบ้าง สำหรับในเรื่องนี้ศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติส่งเสริมให้มีการแต่งงาน (นิกาหฺ) ให้พยายามแสวงหาความลงตัวถึงแม้ว่าความสามารถในเรื่องนี้จะมีไม่เพียงพอก็ตาม อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า ﴿وَأَنكِحُواْ ٱلۡأَيَٰمَىٰ مِنكُمۡ وَٱلصَّٰلِحِينَ مِنۡ عِبَادِكُمۡ وَإِمَآئِكُمۡۚ إِن يَكُونُواْ فُقَرَآءَ يُغۡنِهِمُ ٱللَّهُ مِن فَضۡلِهِۦۗ وَٱللَّهُ وَٰسِعٌ عَلِيمٞ ٣٢ ﴾ ความหมาย “และจงจัดการแต่งงานให้กับผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้า และกับบรรดาคนดีจากปวงบ่าวผู้ชายของพวกเจ้าและบ่าวผู้หญิงของพวกเจ้า หากพวกเขายากจนอัลลอฮฺทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้” (อัน-นูร 24:32)   ในบันทึกของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม จากหะดีษ อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า «يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ مَنْ اسْتَطَاعَ مِنْكُمْ الْبَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ، فَإِنَّهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ، وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لَهُ وِجَاءٌ» ความหมาย “โอ้บรรดาคนหนุ่ม เมื่อพวกท่านมีความสามารถก็จงแต่งงาน เพราะว่ามันจะช่วยให้ลดสายตาและจะช่วยป้องกันอวัยวะเพศ และสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถก็จงให้ถือศีลอด เพราะว่ามันจะเป็นโล่ห์ป้องกันให้แก่เขา” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 3/355 หมายเลขหะดีษ 5066 และเศาะฮีหฺ มุสลิม 2/1019 หมายเลขหะดีษ 1400)   การครองตนเป็นโสดนั้นมีสาเหตุอยู่หลายประการ ฉันจะนำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อว่าจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ประการที่หนึ่ง หมกมุ่นอยู่กับการเรียน  เป็นเหตุให้ปฏิเสธการแต่งงานไปโดยปริยาย กระทั่งอายุอานามล่วงเลยวัยสาวไปมาก จนทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะแต่งงานกับเธออีก ทั้งที่ในหลายครั้งหลายโอกาสก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะนำเรื่องทั้งสอง(การเรียนและการแต่งงาน)มารวมกันไว้ในคราวเดียวกัน  และหากว่ามีอุปสรรคที่จะรวมทั้งสองอย่างไว้ในเวลาเดียวกันแล้วไซร้ ก็ยังถือว่าการแต่งงานมีความจำเป็นยิ่งกว่าการศึกษาเสียอีก   ประการที่สอง การเรียกสินสอดที่สูงเกินไปและบวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย บรรดาผู้รู้กล่าวว่า สำหรับในเรื่องสินสอดมีบทบัญญัติให้เป็นเรื่องเล็กน้อยและง่ายดายมากที่สุด มีปรากฏในหนังสืออัล-มุสตัดร็อกของอิมาม อัล-หากิม จากหะดีษ อุกบะฮฺ บิน อามิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า «خَيْرُ الصَّدَاقِ أَيْسَرُهُ» ความหมาย “สินสอดที่ดีที่สุดคือ สิ่งที่ง่ายดายมากที่สุด” (มุสตัดร็อก อัล-หากิม 2/198หมายเลขหะดีษ 2742)   ขณะที่ท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  กล่าวว่า «لَا تُغَالُوا في صَدُقَاتِ النِّسَاءِ، فَإِنَّهَا لَوْ كَانَتْ مَكْرُمَةً ، أَوْ تَقْوَى عِنْدَ اللَّهِ لَكَانَ أَوْلَاكُمْ بِهَا النَبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، مَا أَصدَقَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ امرأةً مِنْ نِسَائِهِ وَلَا بِنْتاً مِنْ بَنَاتِهِ عَلَى أَكْثَرَ مِنْ ثِنْتَيْ عَشْرَةَ أُوقِيَّةً، والأُوْقِيَةُ أَرْبَعُوْنَ دِرْهَماً» ความหมาย “พวกท่านทั้งหลายอย่าได้เกินเลยในเรื่องสินสอดของผู้หญิง หากว่าสินสอดนั้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีเกียรติหรือเป็นการยำเกรงต่ออัลลอฮฺแล้วไซร์ แน่นอนว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คงจะปฏิบัติก่อนพวกท่านแล้ว แต่ทว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยให้สินสอดแก่ภริยาคนใดและไม่เคยเอาสินสอดบุตรสาวคนใดของท่านมากกว่า 12  อูกิยะฮฺ ซึ่ง 1 อูกิยะฮฺก็เท่ากับ 40 ดิรฮัมเท่านั้น(เท่ากับทองคำ 29.75 กรัมโดยประมาณ)" (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/423 หมายเลขหะดีษ 1114) ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “ผู้ใดที่จิตใจเขามีความต้องการจะเพิ่มสินสอดให้แก่บุตรสาวของเขามากกว่าสินสอดของบรรดาบุตรสาวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งพวกเธอทั้งหลายมีความดีงามมากกว่าผู้ที่อัลลอฮฺทรงสร้างในทุกๆ ความดีงาม และพวกเธอมีความประเสริฐยิ่งกว่าบรรดาอิสตรีทั้งโลกนี้ในทุกๆ ด้าน ก็ย่อมถือว่าเขาคนนั้นเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา และในทำนองเดียวกันกับสินสอดของบรรดามารดาแห่งศรัทธาชน (อุมมะฮาต อัล-มุอ์มินีน) เรื่องที่ว่านี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำในสภาพขณะที่ท่านมีความสามารถและความสะดวก ดังนั้น ในส่วนของคนที่ยากจนและผู้ที่อยู่ในสถานะเดียวกันยิ่งไม่เป็นการสมควรที่จะให้ค่าสินสอดแก่ผู้หญิงเกินความสามารถที่พึงจะกระทำได้”  (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 32/194) อิบนุ อัล-ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวหลังจากนำสำนวนหะดีษบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินสอดว่า“สรุปได้ว่า การเรียกสินสอดแพงเป็นการแต่งงาน(นิกาหฺ)ที่น่าตำหนิ เป็นการแต่งที่มีความศิริมงคลน้อย และเป็นการแต่งที่จะสร้างความยากลำบาก” (ซาด อัล-มะอาด 5/178)   ประการที่สาม ครอบครัวส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นพิจารณาฝ่ายชายผู้มาสู่ขอโดยคำนึงถึงสภาพทางด้านมายาวัตถุ (ดุนยา) อาทิ ยศตำแหน่ง ทรัพย์สิน และเกียรติยศหน้าตา หากไม่มีในสิ่งดังกล่าว เขาก็จะถูกปฏิเสธไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเขาจะมีจรรยามารยาทดีและมีศาสนาก็ตาม ซึ่งในเรื่องนี้จะค้านกับคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งมีหะดีษที่บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ในหนังสือสุนันของท่าน จากหะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่า «إِذَا أَتَاكُمْ مَنْ تَرْضَوْنَ دِينَهُ وَخُلُقَهُ فَأَنْكِحُوْهُ، إِلَّا تَفْعَلُوا تَكُنْ فِتْنَةٌ فِي الْأَرْضِ وَفَسَادٌ عَرِيضٌ» ความหมาย “เมื่อผู้ที่พวกท่านพอใจในเรื่องศาสนาและจรรยามารยาทของเขาได้มาสู่ขอกับท่าน ก็จงจัดการแต่งงานให้กับเขา หากพวกท่านไม่กระทำเช่นนั้น ย่อมต้องเกิดความปั่นป่วนขึ้นบนผืนแผ่นดินและจะสร้างความเสื่อมเสียอย่างยิ่งใหญ่” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/395 หมายเลขหะดีษ 1085)   ประการที่สี่  มีผู้ปกครองบางส่วนที่ใช้อำนาจครอบงำคอยกินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของบุตรสาวที่ทำงาน และด้วยกับเหตุผลดังกล่าวพวกเธอจึงถูกห้ามจากการแต่งงาน เพราะบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นยังต้องการแสวงรายได้จากพวกเธอต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้อัลลอฮฺได้ทรงห้ามการบีบบังคับผู้หญิง พระองค์ตรัสว่า ﴿فَلَا تَعۡضُلُوهُنَّ أَن يَنكِحۡنَ أَزۡوَٰجَهُنَّ إِذَا تَرَٰضَوۡاْ بَيۡنَهُم بِٱلۡمَعۡرُوفِۗ﴾ ความหมาย “ดังนั้นอย่าได้ขัดขวางพวกเธอ ในการที่พวกเธอจะแต่งกับบรรดาคู่ครองของพวกเธอ เมื่อพวกเขาต่างพอใจกันระหว่างพวกเขาด้วยความชอบธรรม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:232)   ประการที่ห้า หญิงสาวจำนวนมากจะปฏิเสธผู้ชายที่แต่งงานแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดและหลงประเด็นมาก ดังนั้น คุณผู้หญิงจะต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญในเรื่องนี้ให้มาก การที่เธอได้อยู่ร่วมชายคาภายใต้ร่มเงาอันแสนอบอุ่นของสามีย่อมเป็นการดีกว่าอยู่เพียงลำพังอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างด้วยการครองตนเป็นโสดในบ้านของผู้เป็นบิดา ดั่งหะดีษที่ได้กล่าวผ่านมา «إِذَا أَتَاكُمْ مَنْ تَرْضَوْنَ دِينَهُ وَخُلُقَهُ فَأَنْكِحُوْهُ، إِلَّا تَفْعَلُوا تَكُنْ فِتْنَةٌ فِي الْأَرْضِ وَفَسَادٌ عَرِيضٌ» ความหมาย “เมื่อผู้ที่พวกท่านพอใจในเรื่องศาสนาและจรรยามารยาทของเขาได้มาสู่ขอกับท่าน ก็จงจัดการแต่งงานให้กับเขา หากพวกท่านไม่กระทำเช่นนั้น ย่อมต้องเกิดความปั่นป่วนขึ้นบนผืนแผ่นดินและจะสร้างความเสื่อมเสียอย่างยิ่งใหญ่” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/395 หมายเลขหะดีษ 1085)   ในยุคปัจจุบัน ปริมาณจำนวนของผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ไหนผู้หญิงที่ถูกหย่าร้าง ผู้หญิงที่สามีต้องตายจาก ผู้หญิงที่อายุมากแต่ยังมิได้แต่งงาน หากผู้ชายคนหนึ่งถูกจำกัดไว้กับภรรยาเพียงหนึ่งคนแล้วผู้หญิงอีกจำนวนมากมายก็จะถูกปล่อยไว้โดยไม่ได้แต่งงาน  และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ฝืนต่อธรรมชาติดั้งเดิม(ฟิฏเราะฮฺ)ที่อัลลอฮฺบันดาลขึ้นแก่มนุษย์ และยังจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮฺจึงมีบทบัญญัติให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า ﴿فَٱنكِحُواْ مَا طَابَ لَكُم مِّنَ ٱلنِّسَآءِ مَثۡنَىٰ وَثُلَٰثَ وَرُبَٰعَۖ﴾ ความหมาย “จงแต่งงานกับผู้ที่ดีสำหรับพวกเจ้า จากบรรดาสตรี สองคน หรือสามคน หรือสี่คน” (อัน-นิสาอ์ 4:3)   ประการที่หก  ผู้หญิงที่ถูกหย่าร้างบางคนจะหวาดผวาในสิ่งที่เคยประสบมาเลยไม่คิดที่จะแต่งงานอีกเป็นครั้งที่สอง  สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด อัลลอฮฺจะทรงอยู่กับปวงบ่าวผู้ที่มองโลกในแง่ดีต่อพระองค์ และจำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องมองโลกในแง่ดีต่อพระผู้อภิบาลของเธอเช่นกัน พระองค์ทรงเป็นผู้จัดสรรแบ่งปันปัจจัยยังชีพ(ริซกี) และเป็นผู้ประทานความสำเร็จให้แก่คู่สามีภรรยา อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า ﴿وَإِن يَتَفَرَّقَا يُغۡنِ ٱللَّهُ كُلّٗا مِّن سَعَتِهِۦۚ وَكَانَ ٱللَّهُ وَٰسِعًا حَكِيمٗا ١٣٠﴾  ความหมาย “และหากทั้งสองจะแยกกัน อัลลอฮฺก็จะทรงให้ความพอเพียงแก่เขาทั้งหมด จากความมั่งมีของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัน-นิสาอ์ 4:130)   และสาเหตุอีกประการหนึ่งที่เริ่มแพร่หลายในบางสังคม ก็คือ มีคนหนุ่มบางกลุ่มที่พวกเขาจะครองตนเป็นโสดปฏิเสธการแต่งงาน เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงจากหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นสามี การกระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นการก้าวออกจากธรรมชาติดั้งเดิม(ฟิฏเราะฮฺ)ของมนุษย์และจริยวัตรของบรรดาศาสนทูต บางส่วนของพวกเขาก็อาจจะเป็นเพราะมีทรัพย์สินไม่เพียงพอ เมื่อนำไปเทียบกับสภาพสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และบางส่วนของพวกเขาก็มีเหตุมาจากการบริโภคสื่อที่เลวๆ มากเกินไปจนกระทั่งสิ่งเหล่านั้นเจริญงอกงามเข้าสถิตในจิตใจของเขา พร้อมทั้งเสพอยู่เป็นระยะเวลายาวนานและเกิดมโนภาพในสิ่งที่ไม่ดีจนในที่สุดมีอคติต่อบรรดาผู้หญิงโดยภาพรวม การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล การเศาะละวาตและความศานติจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเรา รวมถึงบรรดาวงศาคณาญาติ และบรรดาอัครสาวกของท่านทั้งหมดด้วยเทอญ