البحث

عبارات مقترحة:

الطيب

كلمة الطيب في اللغة صيغة مبالغة من الطيب الذي هو عكس الخبث، واسم...

النصير

كلمة (النصير) في اللغة (فعيل) بمعنى (فاعل) أي الناصر، ومعناه العون...

الرب

كلمة (الرب) في اللغة تعود إلى معنى التربية وهي الإنشاء...

ปรัชญาฮัจญ์

التايلاندية - ไทย / Phasa Thai

المؤلف มัสลัน มาหะมะ ، ซุฟอัม อุษมาน
القسم مقالات
النوع نصي
اللغة التايلاندية - ไทย / Phasa Thai
المفردات فضائل العبادات - صفة الحج
บทความนี้ได้นำเสนอมุมมองบางประการว่าด้วยภาพรวมของการประกอบพิธีหัจญ์ ซึ่งในแต่ละส่วนของการบำเพ็ญศาสนกิจนี้ แฝงไว้ด้วยบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่มนุษย์ และส่งผลในเชิงบวกแก่ผู้ที่สามารถดึงเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

التفاصيل

ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ ฮัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งอีมาน การตักวา การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อผมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของอิสลามและมุสลิม             มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันที่จะประกอบพิธีฮัจญ์และมีใจที่ผูกพันกับบัยตุลลอฮฺทุกอณูชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับฮัจญ์มับรูรฺ ที่ไม่มีผลตอบแทนใดๆ ที่คู่ควรเว้นแต่สรวงสวรรค์ของอัลลอฮฺเท่านั้น ฮัจญ์มับรูรฺจึงแฝงด้วยปรัชญาอันมากมาย ส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้             1. ฮัจญ์คือสัญลักษณ์ความเป็นเอกภาพ             เอกภาพด้านการศรัทธา ซึ่งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์เพียงเพื่ออัลลอฮฺและมุ่งมั่นสืบสาน จริยวัตรของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เท่านั้น             เอกภาพด้านการปฏิบัติ ซึ่งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขต่างๆ ของฮัจญ์ด้วยรูปแบบที่เหมือนกัน ในช่วงเวลาอันเดียวกัน ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ลักษณะการแต่งกายที่เหมือนกัน ภายใต้การนำแห่งต้นแบบของผู้นำคนเดียวกันคือนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) โดยผ่านการอรรถาธิบายของนักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ             2. ฮัจญ์คือภาพสะท้อนแห่งสาสน์สากลของอิสลาม                 การก่อร่างสร้างประภาคารแห่งอิสลามได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งสากล ดังจะเห็นได้จากบรรดา  เศาะหาบะฮฺรุ่นแรกที่เป็นเสาหลักแห่งการเผยแผ่อิสลามซึ่งประกอบด้วยอะบูบักร์ที่มาจากตระกูลกุเรชอาหรับ      ศุฮัยบฺจากกรุงโรม บิลาลทาสผู้เสียสละจากอะบิสสิเนีย ซัลมานผู้ดั้นด้นแสวงหาสัจธรรมจากเปอร์เซีย ตลอดจนชาวอาหรับที่คลั่งไคล้และยึดมั่นในเผ่าพันธุ์วงศ์ตระกูล อิสลามสามารถผนวกรวมผู้คนเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งอิสลาม และเลื่อมใสศรัทธาคำสอนของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ที่กล่าวไว้ความว่า “ท่านทั้งหลาย จงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺฉันท์พี่น้องกันเถิด”(บุคอรีและมุสลิม)             คลื่นมหาชนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศที่กำลังเฏาะวาฟรอบๆ บัยตุลลอฮฺ ทำให้เรานึกถึงดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยจักรวาลซึ่งล้วนเป็นบริวารที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ก็เป็นเพียงดาวเคราะห์เพียงดวงหนึ่งในระบบแกแล็กซี่อันกว้างไพศาลที่ต้องโคจรตามระบบที่ถูกกำหนดไว้ เช่นเดียวกันกับมนุษย์บนโลกนี้ ที่ต้องโคจรตามระบบบัยตุลลอฮฺ ไม่ว่าขณะเฏาะวาฟหรือขณะดำรงละหมาดที่มุสลิมทั่วโลกต่างผินหน้าไปยังบัยตุลลอฮฺเป็นประจำอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน ในขณะที่บัยตุลลอฮฺก็เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงความนอบน้อมและศิโรราบภายใต้อำนาจของอัลลอฮฺผู้บริหารสากลจักรวาล   3. ฮัจญ์คือการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและวรรณะของมนุษย์ อิสลามปฏิเสธระบบที่วางมนุษย์บนขั้นบันไดของชนชั้นวรรณะ อิสลามสอนว่าทุกคนไม่มีสิทธิวางก้ามแสดงตนเหนือคนอื่นเนื่องจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือสีผิว ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างยาจกกับมหาเศรษฐี ชนผิวขาวกับชนผิวดำ นายหรือบ่าวไพร่ เจ้าหน้าที่หรือประชาราษฎร์ ทุกคนจะอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันหมด เมื่อผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เริ่มตั้งใจอิหฺรอมที่มีก็อต ( Miqat หมายถึง จุดพรมแดนที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องตั้งใจและปฏิบัติตามเงื่อนไขของฮัจญ์) โดยการห่มกายด้วยผ้าขาวสองผืน ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำลำคลองจำนวนล้านๆ สายที่ไหลบรรจบเข้าสู่มหาสมุทรซึ่งกลายเป็นน้ำทะเลที่มีลักษณะเดียวกันหมด ฉันใดฉันนั้น ผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเป็นจำนวนล้านๆ คน ก็จะกลายเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันเมื่อเข้ามาบรรจบ ณ มีก็อต(Miqat) เพื่อหลอมรวมเข้าสู่มหาสมุทรแห่งกระบวนการฮัจญ์อย่างพร้อมเพรียงกัน ทุกคนไม่มีสิทธิแอบอ้างความเป็นอภิสิทธิชน เว้นแต่ด้วยการตักวา(การยำเกรงต่อพระเจ้า)เท่านั้น   4. ฮัจญ์คือโอกาสให้มุสลิมหวนรำลึกประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของอิสลาม ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะได้ประจักษ์ด้วยสายตาถึงแหล่งกำเนิดของอาทิตย์อุทัยแห่งทางนำและรัศมีอิสลามที่ได้เจิดจรัสทั่วสากล ซึ่งจุดประกายโดยนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้สัมผัสร่องรอยการเสียสละของบรรดาเศาะหาบะฮฺ(เหล่าสาวก) ตลอดจนหวนรำลึกการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของสามพ่อแม่ลูก(นบีอิบรอฮีม นบีอิสมาอีลและฮาญัร)ซึ่งกลายเป็นต้นตำรับของการประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีการสืบสานมาโดยอนุชนรุ่นหลังเป็นเวลานับพันๆ ปี และจะยังคงอยู่จวบจนสิ้นฟ้าแผ่นดิน บรรดาฮุจญาจสามารถอ่านตำราเล่มใหญ่นี้ด้วยการพินิจพิเคราะห์จากสถานที่จริง เพื่อนำเป็นบทเรียน เติมเต็มกำลังใจและข้อเตือนสติตลอดไป   5. ฮัจญ์ คือ กระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณและขัดเกลาจิตใจ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับโอกาสพัฒนาและขัดเกลาจิตใจให้สูงส่ง ตัดขาดจากความโกลาหลของโลก    ดุนยา พวกเขาสวมใส่ผ้า 2 ผืนที่ไม่มีการเย็บถักปักรอย ไม่สามารถแม้กระทั่งใส่น้ำหอม หรือร่วมหลับนอนกับภรรยาของตนเอง ผู้ที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์นั้น พวกเขากำลังสลัดทิ้งการใช้ชีวิตอย่างปกติ สู่การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่สำรวม หัวใจที่ยำเกรง ลิ้นที่หมั่นเปล่งเสียงตัลบียะฮฺ ดุอา ซิกิร อ่านอัลกุรอาน เพื่อป่าวประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ มีจิตใจที่สำรวมและสำนึกในความผิดพลาดของตนเอง บรรยากาศของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่กำลังสะอีย์ระหว่างเขาเศาะฟาและเขามัรวะฮฺจำนวน 7 รอบนั้น เป็นการเสี้ยมสอนให้มุสลิมตระหนักว่า ในโลกแห่งความป็นจริง หากมุสลิมเดินบนเส้นทางอันเที่ยงตรงควบคู่กับการยึดมั่นธงนำที่ถูกต้องแล้ว มุสลิมจะก้าวสู่หลักชัยและไม่มีวันหลงทางเป็นอันขาด เส้นทางอันเที่ยงตรงสำหรับมนุษยชาติคืออิสลาม ในขณะที่ธงนำที่ได้รับการประกันความถูกต้องคือ  อัลกุรอานและสุนนะฮฺ ที่ผ่านการอรรถาธิบายจากบรรดานักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ   6. ฮัจญ์ คือ การสัญจรสู่ถนนแห่งอาคิเราะฮฺ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งจำต้องห่างเหินกับครอบครัว พี่น้องผองเพื่อนและบ้านเกิด เปรียบเสมือนผู้ที่พรากจากโลกดุนยา ซึ่งต้องสูญสิ้นทุกอย่างแม้แต่คนรัก ในขณะที่การอาบน้ำ หรือการอาบน้ำละหมาดและการหุ้มกายด้วยผ้า 2 ผืน ก็เปรียบเสมือนการห่อหุ้มศพของผู้เสียชีวิตที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องดำเนินการให้แก่ตนเองก่อนที่จะให้คนอื่นดำเนินการแทนในลักษณะเช่นนี้เมื่อสิ้นชีวิตไป  การวุกุฟที่อะเราะฟะฮฺที่ควบคู่กับการรำลึกและดุอาต่อเอกอัลลอฮฺ ก็เสมือนสภาพของมนุษย์ที่ถูกฟื้นคืนชีพในวันกียามะฮฺที่ทุกคนกลับไปหาสู่อัลลอฮฺโดยอาศัยเสบียงแห่งตักวาและอีมานเท่านั้น มุสลิมได้รับการฝึกฝนให้ยอมรับสภาพของการกลับหาสู่อัลลอฮฺในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่เขาจะกลับสู่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ช่างเป็นบรรยากาศที่มีความหมายอันลึกซึ้งที่สามารถเตือนสติแก่ผู้มีปัญญาทั้งหลาย   7. ฮัจญ์คือเวทีภาคปฏิบัติจรรยามารยาทอันสูงส่ง ตลอดระยะเวลาของการทำฮัจญ์ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ เชื่อฟังผู้นำผู้ทรงคุณธรรม บากบั่นต่อสู้กับความยากลำบากและความเหนื่อยล้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ทักทายผู้คนด้วยสลาม ให้อาหาร ใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน การมีมารยาทอันสูงส่ง และยับยั้งอารมณ์ตนเองมิให้พลาดพลั้งกระทำสิ่งต้องห้ามและสิ่งอบายมุขต่างๆโดยเฉพาะการร่วมหลับนอนกับภรรยาและสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศการกระทำอบายมุข และการทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดจนหมั่นกระทำความดีทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของฮัจญ์มับรูรฺ เพื่อนำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตยามกลับสู่มาตุภูมิต่อไป   8.  ฮัจญ์คือการประยุกต์ใช้สาสน์แห่งสันติภาพ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำฮัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮฺคือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้นผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป   สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาฮัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วฮัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาเลย วัลลอฮฺ อะอฺลัม.